กีฬาที่ผมชอบเล่นมากที่สุด

  ประวัติความเป็นมาและกติกาของกีฬาแฮนด์บอล






แฮนด์บอล (Handball) เริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมัน ในราวปลายศตวรรษที่ 19 โดยครูพลศึกษาคนหนึ่งชื่อ Konrad Koch ได้ริเริ่มและแนะนำกีฬาประเภทนี้ออกมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม เกมแฮนด์บอลก็ยังไม่เป็นที่นิยมกว้างขวางเท่าที่ควร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2447 แฮนด์บอลจึงได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางขึ้นในภาคพื้นยุโรป มีการกำหนดระเบียบและกติกาการเล่นโดยอาศัยกติกาของฟุตบอลเป็นหลัก นักพลศึกษาชาวอเมริกากล่าวว่า กีฬาแฮนด์บอลน่าจะเป็นเกมกีฬาที่เก่าแก่ที่สุด เพราะมนุษย์นิยมใช้มือกับลูกบอลขว้างมาแต่โบราณแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถจะเดาได้ว่าเกมนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลในปัจจุบันได้อย่างไร
ประเทศยุโรปในฤดูหนาวไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งได้ จึงใช้ห้องพลศึกษาดัดแปลงเล่นกีฬาฟุตบอลด้วยมือ ตอนแรกใช้ผู้เล่น 11 คนเท่ากับฟุตบอล แต่ไม่สะดวก เพราะสถานที่คับแคบ จึงลดจำนวนผู้เล่นเหลือข้างละ 7 คน จึงกลายมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลแบบการเล่นในปัจจุบัน ในช่วงนั้นแฮนด์บอลมิได้ถือว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานเป็นของตนเอง แต่คณะกรรมการที่ก่อตั้งและดำเนินการก็มาจากสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นระหว่างชาติ (The International Amateur Athletic Federation) มีชื่อย่อๆ ว่า I.A.A.F. คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดดำเนินการต่างๆ ในทวีปยุโรปสมัยนั้น
หลังจากปี พ.ศ. 2447 กีฬาแฮนด์บอลซึ่งอยู่ในความดูแลของ I.A.A.F. ก็มีความมั่นคงขึ้น และหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ และมีการจัดบรรจุในรายการกิจกรรมการกีฬาของประเทศนั้นๆ ด้วย ตลอดจนได้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2469 I.A.A.F. ได้ตั้งคณะกรรมการกีฬาแฮนด์บอลขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่างๆ ในเครือสมาชิกของกีฬาประเภทนี้มีการประชุมตกลงเรื่องกติกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กีฬาแฮนด์บอลได้ตั้งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งโดยเอกเทศ และมีการริเริ่มตั้งสหพันธ์แฮนด์บอลขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ประเทศกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ The International amateur Handball Federation ก็ได้จัดตั้งขึ้น และบุคคลที่มีความสำคัญของการกีฬาสหพันธ์คือ Every Brundage ประธานของ I.O.C. ได้เป็นสมาชิกขององค์การใหม่นี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2471 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้มีการสาธิตขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮนด์บอลก็ได้บรรจุเข้าเป็นรายการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ โดยการยอมรับของ I.O.C. หลังจากการประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ก็ได้เพิ่มเป็น 25 ประเทศในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน หรือที่เรียกว่า Nazi Olympic
สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างปัญหาต่างๆ ให้กับการกีฬาเป็นอย่างมากแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งที่โคเปนเฮเกน เพื่อที่จะฟื้นฟูกีฬาแฮนด์บอลขึ้นมาใหม่ แต่ก็ล้มเหลว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2499 จึงได้มีการแก้ไขกติกาแฮนด์บอลขึ้นใหม่ และยอมรับทักษะการเล่นสมัยก่อน ซึ่งทำให้ลักษณะของการเล่นและกติกาเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยกติกาของฟุตบอลและบาสเกตบอลมาผสมกัน
สมัยก่อนนิยมการเล่นแบบ 11 คน เช่นเดียวกับฟุตบอล แต่ในยุโรปตอนเหนือได้มีการเล่นแบบ 7 คน และเล่นกันในร่ม ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ต่อมาการเล่นแฮนด์บอลแบบ 7 คน ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป ทำให้การเล่นแบบ 11 คนได้หายไป ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็ยอมรับการเล่นแบบ 7 คน และจากผลของการวิจัยต่างๆ ปรากฏว่าแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเร็วเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง เหตุที่แฮนด์บอล 7 คนนิยมเล่นในร่มก็อาจเป็นเพราะเนื้อที่สนามน้อย สามารถเล่นในที่แคบๆ ได้ และอีกอย่างก็คือสภาพของดินฟ้าอากาศในฤดูหนาวของทวีปยุโรปนั้นจะปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ดังนั้นแฮนด์บอลจึงไม่สามารถเล่นในสนามกลางแจ้งได้ ด้วยเหตุผลนี้แฮนด์บอลจึงเป็นที่นิยมเล่นกันในร่มหรือโรงยิมเนเซียมแทน
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาของโลกอย่างหนึ่งเพราะการแข่งขันกีฬาสำคัญระหว่างชาติก็มีการแข่งแฮนด์บอลด้วย เช่น กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2525 ก็ได้มีการแข่งขันแฮนด์บอล หลังจากที่บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้ว และในปี พ.ศ. 2516 ได้บรรจุในโปรแกรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตกด้วย

กติกาการแข่งขันโดยย่อนะครับ

สนาม

     1. สนามแข่งขัน  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดยาว 40 เมตร และกว้าง 20 เมตร ประกอบด้วยเขตประตูสองด้านและเขตสนามแข่งขัน เส้นรอบสนามด้านยาวเรียกว่า “เส้นข้าง” และเส้นสั้นเรียกว่า “เส้นประตู” 
ข้อกำหนดของสนามแข่งขัน จะต้องไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบต่อทีมหนึ่งทีมใด
ข้อสังเกต เพื่อความปลอดภัย ควรมีพื้นที่รอบสนามแข่งขันกว้างอย่างน้อย 1 เมตร ตลอดแนวจากด้านข้าง และกว้าง 2 เมตร ตลอดแนวจากหลังเส้นประตู

      2.  ประตู วางที่จุดกึ่งกลางของเส้นประตู ขอบหลังของเสาประตูแต่ละด้านและต้องวางอยู่บนพื้นอย่างมั่นคง โดยมีความสูงวัดจากภายใน 2 เมตร กว้าง 3 เมตร

      3.  เขตประตู กำหนดโดยเส้นเขตประตู

เวลาการเล่น

     1.  เวลาการเล่นทั้งประเภทชายและหญิงที่มีอายุ 18 ปี หรือมากกว่า แบ่งออกเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 30 นาที พักระหว่างครึ่ง 10 นาที
     2. เวลาการเล่นจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ตัดสินในสนาม  ให้สัญญาณนกหวีดเพื่อส่งเริ่มเล่น และสิ้นสุดเวลาเมื่อผู้จับเวลาให้สัญญาณครั้งสุดท้ายการละเมิดและการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ก่อนที่ผู้จับเวลาจะให้สัญญาณหมดเวลา จะต้องทำโทษการทำผิดนั้นก่อนหลังจากนั้นจึงค่อยให้สัญญาณหมดเวลา ผู้ตัดสินในสนามสามารถหยุดการเล่นเท่าที่จำเป็นภายหลังจากมีการส่งลูกกินเปล่าหรือยิงโทษการละเมิดกติการะหว่างการส่งลูกกินเปล่าจะมีผลให้การส่งลูกกินเปล่านั้นต้องยกเลิก และเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามได้สิทธิ์ทำการส่ง
ข้อสังเกต ถ้านาฬิกาอัตโนมัติที่แจ้งสัญญาณการหมดเวลาเกิดขัดข้อง ผู้จับเวลาจะต้องใช้นาฬิกาตั้งโต๊ะหรือนาฬิกาจับเวลาแทนและให้สัญญาณหมดเวลาการแข่งขัน ถ้าใช้นาฬิกาอัตโนมัติ ควรตั้งเวลาตั้งแต่ 0 ถึง 30 นาที
      3.   ทั้งสองทีมจะต้องเปลี่ยนแดนกันในครึ่งเวลาหลัง
      4.  ผู้ตัดสินทั้งสองจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่า จะให้มีการหยุดการเล่นชั่วขณะหนึ่งและจะให้เริ่มเล่นต่อเมื่อใด โดยจะต้องให้สัญญาณกับผู้จับเวลาว่าเมื่อไรจะให้หยุดนาฬิกา (ขอเวลานอก) และจะเริ่มเมื่อไร
การหยุดเวลาการเล่น การขอเวลานอกจะต้องแสดงให้ผู้จับเวลาทราบโดยการเป่านกหวีด สั้น ๆ 3 ครั้ง และให้สัญญาณมือรูปตัว T สัญญาณนกหวีดจะต้องเป่าเพื่อแสดงสัญญาณให้เริ่มการเล่นภายหลังจากการขอเวลานอก
       5.  ถ้าสัญญาณหมดเวลาดังขึ้นขณะส่งลูกกินเปล่า หรือยิงลูกโทษที่ 7 เมตร หรือในขณะที่ลูกบอลกำลังอยู่ในอากาศ ให้ทำการส่งใหม่ก่อนที่ผู้ตัดสินจะยุติการแข่งขัน
การละเมิดกติกาหรือการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาระหว่างการส่งลูกกินหรือเปล่า หรือการยิงลูกโทษ จะต้องถูกลงโทษ
       6. ถ้าผู้ตัดสินพิจารณาเห็นว่า ผู้จับเวลาได้ให้สัญญาณหมดเวลาการแข่งขันก่อนกำหนด จะต้องให้นักกีฬาอยู่ในสนามและเล่นต่อไป ทีมที่ได้ครอบครองลูกบอลขณะที่สัญญาณหมดเวลาก่อนกำหนดดังขึ้น จะเป็นทีมที่ได้ครอบครองลูกบอลต่อ
ถ้าเวลาในครึ่งแรกจบช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนด เวลาในครึ่งหลังจะต้องตัดลงให้น้อยกว่ากำหนดตามเวลาที่เกินไปนั้น
        7.  เมื่อหมดเวลาในช่วงปกติแล้ว ผลเสมอกัน ให้เพิ่มเวลาเพิ่มพิเศษหลังจากพัก 5 นาที โดยให้ทำการเสี่ยงเพื่อเลือกส่งหรือเลือกแดน
เวลาเพิ่มพิเศษแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 5 นาที และให้เปลี่ยนแดน เมื่อหมดเวลาช่วงแรก โดยไม่ต้องพัก
ถ้าผลการแข่งขันยังคงเสมอกันอีกหลังจากต่อเวลาเพิ่มพิเศษครั้งแรกแล้ว ให้ต่อเวลาเพิ่มพิเศษครั้ง 2 อีกโดยให้พัก 5 นาทีและทำการเสี่ยงเพื่อเลือกส่งหรือเลือกแดน
ถ้าผลการแข่งขันยังคงเสมอกันอีก การหาผู้ชนะจะต้องเป็นไปตามระเบียบการแข่งขันเฉพาะครั้งนั้น ๆ

ลูกบอล

        1  ลูกบอลจะต้องทำด้วยหนังหรือวัสดุสังเคราะห์ และเป็นรูปทรงกลม ผิวของลูกบอลต้องไม่สะท้อนแสงหรือลื่น
          2.   ลูกบอลเมื่อวัดโดยรอบก่อนการแข่งขัน สำหรับผู้ชายมีเส้นรอบวงระหว่าง 58-60 เซนติเมตร หนัก 425-475 กรัม สำหรับผู้หญิง มีเส้นรอบวงระหว่าง 54-56 เซนติเมตร หนัก 325-400 กรัม
           3.  การแข่งขันทุกครั้งจะต้องมีลูกบอลที่ถูกต้องตามกติกาจำนวน 2 ลูก
           4.  เมื่อการแข่งขันได้เริ่มขึ้น จะเปลี่ยนลูกบอลไม่ได้ นอกจากจะมีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น
      5.  ลูกบอลที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์แฮนด์บอลนานาชาติต้องมีเครื่องหมายของสหพันธ์เท่านั้นจึงจะสามารถใช้แข่งขันในระดับนานาชาติได้

          6.  ทีมหนึ่งประกอบด้วนผู้เล่น 12 คน ผู้เล่นทุกคนจะต้องมีชื่ออยู่ในใบบันทึกและมีผู้รักษาประตู 1 คน ตลอดเวลาการแข่งขันต้องมีผู้เล่นไม่เกิน 7 คน (ผู้เล่นในสนาม 6 คน และ ผู้รักษาประตู 1 คน) อยู่ในสนามแข่งขัน ส่วนผู้เล่นที่เหลือ คือ ผู้เล่นสำรอง
เฉพาะผู้เล่นสำรอง ผู้เล่นที่ถูกสั่งพักและเจ้าหน้าที่ประจำทีม 4 คนเท่านั้นที่อนุญาตให้อยู่ในบริเวณผู้เล่นสำรองได้ เจ้าหน้าที่ประจำทีมทุกคนต้องมีชื่ออยู่ในใบบันทึกและจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ตลอดเวลาการแข่งขัน โดยมีหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อทีมและเฉพาะเจ้าหน้าที่คนนี้เท่านั้นที่สามารถติดต่อกับผู้จับเวลา ผู้บันทึก และผู้ตัดสินได้

ผู้รักษาประตู

         1. ผู้เล่นที่เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู สามารถเข้าเล่นเป็นผู้เล่นในสนามได้ทุกเวลา ผู้เล่นในสนามสามารถเปลี่ยนเป็นผู้รักษาประตูได้ทุกเวลา แต่ต้องเปลี่ยนเสื้อก่อน
ผู้รักษาประตูสำรองจะต้องอยู่ในบริเวณเขตกาเปลี่ยนตัวตลอดเวลา

เขตประตู (The Goal Area)
     
ผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในอนุญาตได้ (กติกาข้อ 6.3)
             2.  ผู้เล่นในสนามเข้าไปในเขตประตู จะถูกพิจารณาตัดสินดังนี้
                 - ส่งลูกกินเปล่า ถ้าผู้เล่นในสนามเข้าไปในเขตประตูขณะที่กำลังครอบครอง ลูกบอลอยู่ (กติกาข้อ 13.1ค)
                - ส่งลูกกินเปล่า ถ้าผู้เล่นในสนามที่ไม่ได้ครอบครองลูกบอลเข้าไปในเขตประตูและทำให้เกิดการได้เปรียบ (กติกาข้อ 6.1ค และ 13.1ค)
                - ยิงลูกโทษ ถ้าผู้เล่นในสนามของฝ่ายป้องกันเข้าไปในเขตประตูและได้เปรียบฝ่ายรุก ทำให้ได้ครอบครองลูกบอล (กติกาข้อ 14.1 ค.)
          3.  ผู้เล่นในสนามที่เข้าไปในเขตประตูจะยังไม่ถูกทำโทษ
                - ถ้าเข้าไปในเขตประตูภายหลังจากการเล่นลูกบอลและไม่ทำให้คู่ต่อสู้เกิดการเสียเปรียบ
                - ถ้าเข้าไปในเขตประตูโดยไม่มีลูกบอล และไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบ
                - ผู้เล่นฝ่ายรับเข้าไปในประตูโดยไม่มีลูกบอล ในระหว่าง หรือภายหลังจากการพยายามป้องกันโดยไม่เกิดการได้เปรียบกับคู่ต่อสู้
          4. ลูกบอลที่อยู่ในเขตประตูเป็นของผู้รักษาประตู ห้ามผู้เล่นในสนามคนอื่นๆ ถูกลูกบอลในขณะที่ลูกบอลวางหรือกลิ้งอยู่บนพื้นสนามในเขตประตู หรือในขณะที่ผู้รักษาครอบครองลูกบอลอยู่ (กติกาข้อ 13.1 ค.) แต่จะอนุญาตให้เล่นลูกบอลในขณะที่ลูกบอลอยู่ในอากาศเหนือเขตประตูได้
         5.  ลูกบอลที่อยู่ในเขตประตู ผู้รักษาประตูจะต้องส่งกลับออกมาเข้าสู่การเล่น
         6.  การเล่นจะคงดำเนินต่อไป ถ้าเป็นลักษณะการป้องกันของฝ่ายรับ โดยลูกบอลได้ถูกผู้เล่นฝ่ายป้องกันและหลังจากนั้นผู้รักษาประตูได้รับลูกนั้นหรือลูกหยุดในเขตประตู
         7. ถ้าผู้เล่นเจตนาส่งลูกกลับเข้าไปในเขตประตูของตนเอง ผู้ตัดสินจะพิจารณาตัดสินดังนี้
                - ได้ประตู ถ้าลูกบอลเข้าประตู
                - ส่งลูกกินเปล่า ถ้าลูกบอลหยุดนิ่งอยู่ในเขตผู้รักษาประตู หรือถูกผู้รักษาประตู และลูกบอลไม่เข้าประตู
                - ส่งลูกเข้าเล่น ถ้าลูกบอลออกนอกเส้นประตู
                - การเล่นจะดำเนินต่อไป ถ้าลูกบอลได้กระดอนกลับออกมาในสนามอีกโดยไม่ได้ถูกผู้รักษาประตู
          8. ลูกบอลที่กลับออกมาจากเขตประตูเข้าสู่เขตการเล่นจะถือว่าอยู่ในการเล่นต่อไป

การเล่นลูกบอล (Playing The Ball)
อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้
           1.  ขว้าง จับ หยุด ผลัก หรือตีลูกบอลด้วยมือทั้งสอง (แบมือหรือกำมือ) แขนศีรษะ ลำตัว ต้นขา และเข่า
           2.  จับลูกบอลไว้ได้ไม่เกิน 3 วินาที ในขณะที่ลูกบอลวางอยู่บนพื้น
           3.  ถือลูกบอลและก้าวได้ไม่เกิน 3 ก้าว หนึ่งก้าวให้พิจารณาการกระทำดังนี้
                 - ยกเท้าหนึ่งและวางลง หรือเคลื่อนเท้าหนึ่งจากที่หนึ่งไปยังที่อื่น ๆ
                 - ถ้าผู้เล่นสัมผัสพื้นด้วยเท้าเพียงเท้าเดียวจับลูกบอล และใช้เท้าอีกเท้าหนึ่งสัมผัสพื้น
                 - ถ้าผู้เล่น หลังจากกระโดดและสัมผัสพื้นด้วยเท้าเพียงเท้าเดียว และกระโจนด้วยเท้าเดิมหรือสัมผัสพื้นด้วยเท้าอื่น
                 - ถ้าผู้เล่น หลังจากกระโดดและสัมผัสพื้นด้วยเท้าทั้งสองพร้อมกันและยกเท้าหนึ่งและวางเท้านั้นลง หรือเคลื่อนเท้าหนึ่งจากที่หนึ่งไปยังที่อื่น ๆ
ข้อสังเกต
ถ้าเท้าหนึ่งเคลื่อนที่จากหนึ่งไปยังที่อื่น อนุญาตให้ลากเท้าอีกเท้าหนึ่งได้
           4. ในขณะยืนหรือวิ่ง
                 - กระดอนลูกบอลครั้งหนึ่งและจับมือด้วยมือเดียวหรือสองมือ
                 - กระดอนลูกบอลซ้ำด้วยมือเดียว (การเลี้ยงลูกบอล) หรือกลิ้งลูกบอลไปบนพื้นสนามด้วยมือเดียว แล้วจับหรือเก็บลูกบอลขึ้นมาอีกด้วยมือเดียวหรือสองมือ
ในขณะที่จับลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือนั้นจะทำได้ไม่เกิน 3 วินาที หรือก้าวได้ไม่เกิน 3 ก้าว
การเลี้ยงหรือกระดอนนั้น ผู้เล่นสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถูกลูกบอลและเลี้ยงลูกไปบนพื้น
เมื่อลูกบอลถูกผู้เล่นอื่นหรือประตู ผู้เล่นมีสิทธิ์ที่จะแตะหรือกระแทกลูกบอลและจับได้อีกครั้ง
            5. เคลื่อนย้ายลูกบอลจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง
            6. เล่นลูกบอลในขณะที่กำลังคุกเข่า นั่ง หรือนอนอยู่บนพื้น
ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้
            7. ถูกลูกบอลมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากจะได้ถูกพื้น ผู้เล่นอื่น ๆ หรือประตู (กติกาข้อ 13.1 ง.)
การจับลูกบอลพลาด (Fumbling) จะไม่ถูกทำโทษ
ข้อสังเกต Fumbling หมายถึง ผู้เล่นพลาดจากการครอบครองลูกบอลในขณะที่พยายามจะจับหรือหยุดลูก
            8. ถูกลูกบอลด้วยเท้าหรือขาซึ่งอยู่ต่ำกว่าเข่าลงไป ยกเว้นในกรณีที่คู่ต่อสู้ได้ขว้างลูกบอลมาถูกผู้ล่น (กติกาข้อ 13.1 ง.) แต่อย่างไรก็ตาม การทำผิดอย่างนี้ไม่ถูกลงโทษถ้าไม่เป็นการทำให้เกิดการได้เปรียบกับผู้เล่นหรือเพื่อนร่วมทีม
            9. ทิ้งตัวลงเล่นลูกบอล ในขณะที่ลูกบอลวางอยู่บนพื้นหรือกำลังกลิ้งอยู่ (กติกาข้อ 13.1 ง.)
กติกาข้อนี้จะต้องไม่นำมาใช้กับผู้รักษาประตูในขณะที่อยู่ในเขตประตู
           10. เจตนาทำให้ลูกบอลออกนอกเส้นข้างหรือเส้นประตู (กติกาข้อ 13.1 ง.)
กติกาข้อนี้จะต้องไม่นำมาใช้กับผู้รักษาประตูในขณะที่อยู่ในเขตประตูและเสียการครอบครองลูกบอลและลูกบอลได้ออกไปนอกเส้นประตู (ผู้รักษาประตูส่ง)
           11. พยายามครอบครองลูกบอลไว้ในทีมของตน โดยไม่พยายามที่จะรุก หรือทำประตู การเล่นในลักษณะนี้จะถูกลงโทษด้วยการส่งลูกกินเปล่า ณ จุดที่การเล่นได้หยุดลง (กติกาข้อ 13.1 ฉ.)
           12. การเล่นจะดำเนินต่อไป ถ้าลูกบอลถูกผู้ตัดสินในสนาม

การเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้าม (The Approach To The Opponent)
อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้
           1. ใช้มือและแขนเพื่อประโยชน์ในการครอบครองลูกบอล
           2. แบมือเล่นลูกบอลได้ทุกทิศทาง
           3. ใช้ลำตัวบังคู่ต่อสู้ในขณะที่คู่ต่อสู้ไม่ได้เป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล
ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้
           4. กีดกันหรือดึงคู่ต่อสู้ด้วยมือ แขนหรือขา
           5. ผลักคู่ต่อสู้ให้เข้าไปในเขตประตู
           6. ดึงหรือตีลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือให้ออกจากมือคู่ต่อสู้
           7. ใช้กำปั้นทุกบลูกบอลให้ออกจากคู่ต่อสู้
           8. ใช้ลูกบอลทำให้คู่ต่อสู้เกิดอันตราย หรือแกล้งใช้ลูกบอลทำให้คู่ต่อสู้เกิดอันตราย
           9. ทำให้ผู้รักษาประตูเกิดอันตราย
           10. ดึงคู่ต่อสู้ด้วยมือเดียวหรือสองมือ หรือผลักคู่ต่อสู้
           11. วิ่งเข้าหา กระโดดเข้าหา ทำให้ล้ม ตีหรือขู่คู่ต่อสู้ในทุก ๆ ทาง
           12. ทำผิดกติกาเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้าม จะถูกทำโทษโดยส่งลูกกินเปล่าหรือให้ยิงโทษ
           13. ทำผิดกติกาเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้าม โดยที่การกระทำนั้นมุ่งที่ตัวบุคคลมากกว่าลูกบอล การกระทำดังกล่าวนี้จะถูกลงโทษที่รุนแรง การลงโทษที่รุนแรงจะนำมาใช้ในกรณีการกระทำที่ไม่น้ำใจนักกีฬา
            14. การทำผิดอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้ามหรือการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างรุนแรง จะต้องถูกลงโทษโดยการตัดสิทธิ์ผู้เล่นที่ผิดนั้น
            15. ผู้เล่นที่ทำผิดการทำร้ายร่างกายจะถูกไล่ออกจากการแข่งขัน 

การได้ประตู (Scoring)
     
             1. จะนับว่าได้ประตูเมื่อลูกบอลทั้งลูก ได้ผ่านเข้าไปในเส้นประตู (รูปที่ 4) โดยผู้ทำประตู หรือเพื่อนร่วมทีมไม่ได้ทำผิดกติกาก่อนหรือขณะทำการยิงประตู
ถ้าผู้เล่นฝ่ายรับพยายามป้องกันอย่างผิดกติกาหรือและลูกบอลได้ผ่านเข้าประตู ให้ถือว่าได้ประตู
ถ้าผู้ตัดสินหรือผู้จับเวลาให้สัญญาณหยุดเวลาก่อนที่ลูกบอลจะผ่านเข้าไปในประตู ถือว่าไม่ได้ประตู
ถ้าผู้รักษาประตูเล่นบอลในเขตประตูและลูกบอลได้หลุดเข้าประตูตนเองให้ถือว่าเป็นประตูของฝ่ายตรงกันข้าม นอกจากลูกบอลจะได้ออกนอกเส้นเขตประตูก่อนแล้ว
หมายเหตุ ถ้าลูกบอลถูกป้องกันไม่ให้เข้าประตูโดยบุคคลอื่นหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์เข้าไปในสนาม (เช่นผู้ชม) และผู้ตัดสินได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นลูกบอลจะต้องเข้าประตูอย่างแน่นอน ให้ถือว่าได้ประตู
            2. ถ้าผู้ตัดสินได้เป่านกหวีดเพื่อให้ส่งเริ่มเล่นต่อไปแล้วประตูทีได้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ผู้ตัดสินจะต้องแสดงการได้ประตูอย่างชัดเจน ถ้าสัญญาณการหมดเวลาแต่ละครึ่งดังขึ้นทันทีหลังจากได้ประตูจะต้องนับเป็นประตู
ข้อสังเกต จะต้องแจ้งการได้ประตูบนป้ายคะแนนทันทีที่ผู้ตัดสินได้ให้สัญญาณการได้ประตู
             3. ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าอีกทีมหนึ่งคือผู้ชนะการแข่งขัน
             4. ถ้าทั้งสองทีมทำประตูได้เท่ากันหรือไม่ได้ประตูเหมือนกันให้ถือว่าเสมอกัน

การส่งเริ่มเล่น (The Throw-Off)
       
             1. การส่งเริ่มเล่น จะเริ่มโดยที่ชนะการเสี่ยงและเลือกเล่นโดยเป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล ฝ่ายตรงกันข้ามจะเลือกแดนถ้าฝ่ายที่ชนะการเสี่ยงเลือกแดน ฝ่ายตรงกันข้ามได้เป็นผู้ส่งเริ่มเล่น
การส่งเริ่มในครึ่งเวลาหลังจะส่งโดยทีมที่มิได้เป็นฝ่ายส่งในการเริ่มครึ่งเวลาแรก เมื่อมีเวลาเพิ่มพิเศษให้ทำการเสี่ยงใหม่
              2. หลังจากมีการได้ประตู ทีมที่เสียประตูจะต้องเป็นผู้ส่งเริ่มเล่นใหม่ (กติกาข้อ 9.2)
              3. การส่งเริ่มเล่น จะทำที่จุดกึ่งกลางสนามทิศทางใด ๆ ก็ได้หลังจากที่ผู้ตัดสินเป่านกหวีด การส่งเริ่มจะต้องทำภายในเวลา 3 วินาที (กติกาข้อ 13.1 ซ.)
              4. ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ในแดนครึ่งสนามของตนเองในขณะที่มีการส่งเริ่มและผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามจะต้องอยู่ห่างจากผู้ส่งลูกเริ่มเล่นอย่างน้อย 3 เมตร

การส่งลูกเข้าเล่น (The Throw-In)
       
              1. จะตัดสินใจส่งลูกเข้าเล่น ถ้าลูกบอลทั้งลูกได้ผ่านความกว้างของเส้นข้าง หรือลูกบอลได้ถูกผู้เล่นในสนามของฝ่ายรับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ลูกนั้นจะออกข้ามเส้นประตูไป
              2. การส่งลูกเข้าเล่นจะส่งโดยผู้เล่นฝ่ายที่มิได้ถูกลูกบอลเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ลูกบอลจะข้ามเส้นข้างหรือเส้นประตู โดยผู้ตัดสินไม่ต้องใช้สัญญาณนกหวีด
              3. การส่งลูกเข้าเล่น ให้ส่ง ณ บริเวณที่ลูกบอลได้ข้ามเส้นข้างหรือที่บริเวณปลายเส้นข้างด้านที่ลูกบอลได้ออกนอกเส้นประตู
              4. ผู้เล่นที่ส่งลูกเข้าเล่น ให้ส่ง ณ บริเวณที่ลูกบอลได้ข้ามเส้นหรือที่บริเวณปลายเส้นข้างด้านที่ลูกบอลได้ออกนอกเส้นประตู
ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นวางลูกบอลลงบนพื้นและเก็บขึ้นมาอีกด้วยตนเอง หรือกระดอนแล้วจับลูกบอลอีก
             5. ขณะที่มีการส่งลูกเข้าเล่น ผู้เล่นฝ่ายตรงกันจะต้องยืนอยู่ห่างจากผู้ส่งลูกเข้าเล่นอย่างน้อย 3 เมตร แต่ผู้เล่นสามารถยืนใกล้เส้นประตูด้านนอกได้ ถึงแม้ว่าระยะทางระหว่างผู้ส่งลูกเข้าเล่นกับผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามน้อยกว่า 3 เมตรก็ตาม

ผู้รักษาประตูส่ง (The Goalkeeper Throw)
       
            1. ผู้รักษาประตูจะส่งเมื่อลูกบอลได้ข้ามออกนอกเส้นประตู (กติกาข้อ 5,7 7.12)
            2. ผู้รักษาประตูจะส่งโดยไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน จากภายในเขตประตูให้ออกจากเส้นเขตประตู
จะพิจารณาว่าเป็นการส่งโดยสมบูรณ์เมื่อ ลูกบอลได้ส่งโดยผู้รักษาประตูและข้ามเส้นเขตประตู
            3. ถ้าลูกบอลอยู่ในประตู ผู้รักษาประตูจะต้องนำมาลูกนั้นกลับเข้าสู่การเล่น (กติกาข้อ 6.7 ค.)
            4. ผู้รักษาประตูจะต้องไม่ถูกลูกบอลนั้นอีก หลังจากได้ส่งลูกบอลเข้าไปแล่นจนกว่าลูกนั้นจะได้สัมผัสผู้เล่นคนอื่น ๆ ก่อน (กติกาข้อ 5.9, 13.1 ญ)

การส่งลูกกินเปล่า (The Free-Throw)    
              1. การส่งลูกกินเปล่าจะกระทำดังนี้
                 - การเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้อง หรือเข้าสู่สนามผิดกติกา (กติกาข้อ 4.4 -6)
                 - ผู้รักษาประตูทำผิดกติกา (กติกาข้อ 5.7- 10, 5.13)
                 - ผู้เล่นในสนามทำผิดกติกาในเขตประตู (กติกาข้อ 6.2 ก – ข., 6.4)
                 - เล่นลูกบอลโดยไม่ถูกต้อง (กติกาข้อ 7.2 -4,7 -9)
                 - เจตนาทำให้ลูกบอลออกเส้นประตูหรือเส้นข้าง (กติกาข้อ 7.10)
                 - ถ่วงเวลาการเล่น (กติกาข้อ 7.11)
                 - การฟาล์วเนื่องจากการเข้าเล่นกับคู่ต่อสู้ (กติกาข้อ 8.12)
                 - การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งเริ่มเล่น (กติกาข้อ 10.3)
                 - การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งเข้าเล่น (กติกาข้อ 11.4)
                 - การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งจากเขตประตู (กติกาข้อ 12.4)
                 - การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งลูกกินเปล่า (กติกาข้อ 13.3)
                 - การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการยิงลูกโทษ (กติกาข้อ 14.2-4)
                 - การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการโยนลูกโดยผู้ตัดสิน (กติกาข้อ 15.4.)
                 - การทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการส่งตามปกติ
                 - การกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา (กติกาข้อ 16.12.)
                 - การรุกราน (กติกาข้อ 8.5)
           2. การส่งลูกกินเปล่า จะส่ง ณ จุดที่มีการทำผิดกติกา โดยไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน
ถ้าจุดส่งกินเปล่าอยู่ระหว่างเส้นเขตประตูกับเส้นส่งลูกกินเปล่า (เส้น 9 เมตร) ของฝ่ายที่ทำผิด การส่งลูกกินเปล่าจะต้องกระทำ ณ บริเวณที่ใกล้ที่สุดอยู่นอกเส้น 9 เมตร
           3. ในขณะที่ฝ่ายรุกอยู่ในตำแหน่งที่จะส่ง ต้องมีลูกบอลอยู่ในมือ เขาจะวางลูกลงบอลบนพื้นและเก็บขึ้นมาอีกหรือกระดอนลูกและจับอีกไม่ได้ (กติกาข้อ 13.1 ฎ.)
           4. ผู้เล่นฝ่ายรุกจะต้องไม่สัมผัสหรือข้ามเส้น 9 เมตรของฝ่ายตรงกันข้ามก่อนที่การส่งลูกบอลกินเปล่าจะเริ่มขึ้น
ผู้ตัดสินจะต้องดูตำแหน่งของผู้เล่นในขณะที่มีการส่งลูกกินเปล่า ถ้าผู้เล่นอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจะมีผลกระทบต่อการเล่น
การส่งลูกกินเปล่าในกรณีนี้จะต้องส่งหลังสัญญาณนกหวีด
          5. ในขณะที่มีการส่งลูกกินเปล่า ผู้ฝ่ายตรงข้ามจะต้องอยู่ห่างจากผู้ส่งอย่างน้อย 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม จะอนุญาตให้ผู้เล่นอื่นยืนใกล้เส้นเขตประตูด้านนอกสนามได้ ถ้าการส่งลูกกินเปล่าลูกนั้นส่ง ณ บริเวณเส้น 9 เมตร
          6. ผู้ตัดสินจะต้องไม่ให้มีการส่งลูกกินเปล่าในการทำผิดของฝ่ายรับ ถ้าการทำผิดนั้นจะมีผลทำให้ฝ่ายรุกเกิดการเสียเปรียบ
จะต้องให้การส่งลูกกินเปล่าเป็นอย่างน้อย ถ้าการทำผิดกติกานั้นทำให้ฝ่ายรุกเสียการครอบครองลูกบอล
จะต้องไม่ให้ส่งลูกกินเปล่า ถ้าผู้เล่นยังครอบครองลูกและทรงตัวได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าจะมีการทำผิดกติกาของฝ่ายรับ
         7. ถ้าการแข่งขันต้องหยุดลง โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดกติกา ทีมที่ได้ครอบครองลูกบอลอยู่ยังคงได้ครอบครองลูกบอลต่อโดยการได้ส่งลูกกินเปล่า ณ บริเวณที่ลูกบอลอยู่ในขณะที่เวลาได้หยุดลง การส่งจะต้องได้รับสัญญาณนกหวีดก่อน
         8. ถ้ามีการตัดสินที่เป็นความผิดของฝ่ายรุก ผู้เล่นที่กำลังครอบครองลูกบอลอยู่จะต้องวางลูกนั้นลงบนพื้นทันที

การยิงลูกโทษ (The 7-Meter Throw)
     
           1. การยิงลูกโทษ จะกระทำเมื่อ
              - มีการทำให้เสียโอกาสอย่างชัดแจ้งในการได้ประตูในทุก ๆ ส่วนของสนามโดยผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีมของฝ่ายตรงข้าม
              - มีสัญญาณนกหวีดที่ไม่ได้รับอนุญาตในขณะที่มีโอกาสได้ประตูอย่างชัดเจน
              - มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในเกมเข้าไปในสนามทำให้เสียโอกาสในการได้ประตูอย่างชัดเจน
          2. ถ้าผู้เล่นฝ่ายรุกสนามควบคุมบอลและร่างกายได้อย่างสมบูรณ์หลังจากถูกกระทำผิด โดยผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม (ในขณะที่มีโอกาสจะได้ประตู) จะต้องไม่ให้เป็นลูกโทษ ยกเว้นผู้เล่นฝ่ายรุกส้มหรือเสียโอกาสที่จะได้ประตู จะต้องตัดสินให้เป็นลูกโทษ
          3. หลังจากผู้ตัดสินเป่าสัญญาณให้เป็นลูกโทษแล้ว ผู้ตัดสินต้องให้สัญญาณหยุดเวลาทุกครั้ง
          4. ในขณะที่ทำการยิงลูกโทษ และผู้เล่นคนอื่นของฝ่ายผู้ยิงลูกโทษ ไม่สามารถเล่นบอลได้ จนกว่าลูกบอลจะสัมผัสฝ่ายตรงกันข้ามหรือประตู
          5. ผู้ยิงลูกโทษ ไม่สามารถสัมผัสหรือข้ามเส้น 7 เมตร ก่อนที่ลูกบอลจะหลุดจากมือ
          6. ผู้ที่ยิงลูกโทษ และผู้เล่นคนอื่นของฝ่ายผู้ยิงลูกโทษ ไม่สามารถเล่นบอลได้ จนกว่า ลูกบอลสัมผัสกับฝ่ายตรงข้ามหรือประตู
          7. ในขณะที่ทำการยิงลูกโทษ ผู้เล่นคนอื่นของฝ่ายผู้ยิงลูกโทษ ต้องอยู่นอกเขตส่งลูกกินเปล่า (เส้น 9 เมตร) จนกว่าลูกบอลจะหลุดจากมือของผู้ยิงประตูไปแล้ว ถ้ามีการทำผิดกติกาให้เปลี่ยนเป็นลูกส่งกินเปล่าแก่ฝ่ายตรงข้าม
          8. ในขณะที่ทำการยิงลูกโทษ ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามต้องอยู่นอกเขตส่งลูกกินเปล่า (เส้น 9 เมตร) และห่างจากผู้ยิงลูกโทษออกไป 3 เมตร ถ้ามีการทำผิดกติกาให้ยิงลูกโทษอีกครั้ง ถ้าลูกนั้นไม่เข้าประตู
          9. ให้มีการยิงลูกโทษใหม่อีกครั้งถ้าลูกไม่เข้าประตู เนื่องจากผู้รักษาประตูข้ามเส้น 4 เมตร ก่อนที่ลูกบอลจะหลุดจากมือของผู้ยิงลูกโทษ
         10. ไม่อนุญาตให้มีการถ่วงเวลาในการเปลี่ยนตัวผู้รักษาประตู ในขณะที่ทำการยิงลูกโทษ พร้อมที่จะทำการยิง ถ้าเกิดการทำผิดในกรณีให้ลงโทษโดยใช้ข้อไม่มีน้ำใจนักกีฬา

การปฏิบัติในการส่ง (ส่งลูกริเริ่มเล่นส่งลูกเข้าเล่น การส่งจากผู้รักษาประตูส่งกินเปล่า ลูก 7 เมตร)
      
         1. ลูกบอลจะต้องอยู่ในมือผู้ส่งก่อนที่ทำการส่ง ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ในตำแหน่งตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการส่ง และผู้เล่นต้องอยู่ในตำแหน่งนั้นจนกว่าบอลจะหลุดออกจากมือของผู้ส่ง
         1.2 ยกเว้นการส่งจากผู้รักษาประตู ให้สามารถใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าสัมผัสกับพื้น และเมื่อส่งลูกให้ยกเท้าอื่น และวางลงได้อีกครั้ง
         1.3 ผู้ตัดสินจะต้องเป่านกหวีดเมื่อเริ่ม
                - ทุกกรณีของการส่งลูก (กติกาข้อ 10.3) และยิงลูกโทษ
                - ในกรณีของการส่งลูกเข้าเล่น การส่งลูกของผู้รักษาประตูหรือส่งลูกกินเปล่า
                   : เมื่อเริ่มเล่นหลังจากขอเวลานอก
                   : เมื่อเริ่มส่งลูกกินเปล่า กรณีที่เกิดการเปลี่ยนตัวผิดกติกา
                   : เมื่อเริ่มเล่นหลังจากลงโทษผู้เล่นโดยการให้บัตรเหลือง สั่งพัก 2 นาที ตัดสิทธิ์
                   : เมื่อหลังจากการแก้ไขตำแหน่งของผู้เล่นให้ถูกต้อง
                   : หลังจากมีการเตือนหรือลงโทษ
หลังจากสัญญาณของผู้ตัดสิน ผู้เล่นจะต้องส่งลูกบอลภายใน 3 วินาที
          1.4 การส่งจะถือว่าสมบูรณ์เมื่อลูกบอลได้หลุดออกจากมือจะต้องไม่ใช้วิธีการยื่นลูกบอลหรือแตะโดยเพื่อนร่วมทีม
          1.5 ผู้ส่งลูกจะต้องไม่ถูกบอลอีกจนกว่าลูกบอลจะได้ถูกผู้เล่นคนอื่นหรือถูกประตูก่อน
          1.6 การส่งลูกทุกชนิด ถ้าลูกเข้าประตูโดยตรงถือว่าเข้าประตู
          1.7 ในขณะที่มีการส่งลูกเข้าเล่นหรือส่งลูกกินเปล่า ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามยืนอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง และฝ่ายส่งบอลได้ทำการส่งบอลเพื่อเล่นเร็วและกำลังได้เปรียบ ผู้ตัดสินอาจไม่เข้าใจตำแหน่ง แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าฝ่ายรุกไม่ได้เปรียบจึงให้แก้ไขตำแหน่งของฝ่ายรับให้ถูกต้อง
ถ้าผู้ตัดสินให้สัญญาณนกหวีดเพื่อให้เริ่มส่ง แม้ว่าผู้เล่นฝ่ายรับจะมีตำแหน่งไม่ถูกต้องก็ตาม กรณีเช่นนี้ฝ่ายรับมีสิทธิ์เข้าเล่นได้
ผู้เล่นจะถูกเตือนถ้าทำการถ่วงเวลาหรือกีดขวางการส่งของคู่ต่อสู้โดยการยืนชิดหรือทำผิดอย่างอื่น จะต้องถูกสั่งพัก 2 นาที ถ้าทำซ้ำอีกหลังจากได้ทำการเตือนแล้ว

การลงโทษ (The Punishments)
     
              1. การเตือนจะทำเมื่อ
                - การทำผิดเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้าม (กติกาข้อ 5.6, 8.4-11)
                - การทำผิดเกี่ยวกับการเข้าเล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องถูกลงโทษ (กติกาข้อ 8.13)
                - การทำผิดในขณะที่ฝ่ายตรงกันข้ามกำลังทำการส่ง (กติกาข้อ 16.7)
                - การกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาโดยผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีม
            2. ในขณะที่มีการเตือน ผู้ตัดสินจะต้องแสดงการทำผิดนั้น ๆ ของผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ และแสดงให้ผู้จับเวลาและผู้บันทึกทราบโดยการใช้บัตรสีเหลือง
ข้อสังเกต บัตรสีเหลืองควรมีขนาด 9 ? 12 เซนติเมตร นักกีฬาแต่ละคนไม่ควรได้รับการเตือนเกินกว่า 1 ครั้ง และทีมหนึ่งไม่ควรเกิน 3 ครั้ง ผู้เล่นที่ถูกสั่งพัก 2 นาที ไม่ควรมีการเตือนอีก และทีมเจ้าหน้าที่ไม่ควรถูกเตือนเกินกว่า 1 ครั้ง
            3. การสั่งพัก 2 นาที จะทำเมื่อ
                  - มีการเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้อง หรือการเข้าสู่สนามที่ผิดกติกา (กติกาข้อ 4.4-6)
                  - การทำผิดกติกาซ้ำเนื่องจากการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกันข้าม จะถูกลงโทษ ลักษณะการเล่นที่รุนแรง (กติกาข้อ 8.13)
                  - การทำผิดซ้ำเกี่ยวกับการไม่มีน้ำใจนักกีฬาของผู้เล่นในสนาม
                  - ไม่วางลูกบอลลงอย่างทันทีในขณะที่มีการตัดสินให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้เล่น(กติกาข้อ 13.8)
                  - ทำผิดกติกาซ้ำ ๆ ในขณะที่คู่ต่อสู้กำลังส่งลูก
                  - ผลที่เกิดจากการตัดสิทธิ์ผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีม
ข้อยกเว้น การสั่งพักสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการเตือนมาก่อน
           4. ผู้ตัดสินจะต้องแสดงการสั่งพักผู้เล่นที่ทำผิดให้ชัดเจนและแจ้งให้ผู้จับเวลา ผู้บันทึกด้วยการใช้สัญญาณมือ ในลักษณะยกมือเหยียดแขนขึ้นข้างเดียวและชูนิ้วสองนิ้ว
การสั่งพักโดยปกติจะให้หยุดพัก 2 นาที แต่ถ้าเป็นผู้เล่นคนถูกสั่งพักครั้งที่ 3 ผู้เล่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน
ผู้เล่นที่ถูกสั่งพักจะไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในขณะที่ถูกสั่งพัก และจะไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นอื่นเข้าแทนได้
ช่วงเวลาการสั่งพักจะเริ่มเมื่อการเล่นได้เริ่มขึ้นใหม่ด้วยสัญญาณนกหวีด การสั่งพัก 2 นาทีจะมีต่อไปจนถึงครึ่งเวลาหลังถ้าเลาสั่งพักนั้นยังไม่หมด และได้หมดเวลาของครึ่งแรกก่อน และให้รวมถึงเวลาเพิ่มเติมพิเศษด้วย
           5. การตัดสิทธิ์จะทำเมื่อ
                 - ถ้าผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันเข้าไปในสนามกติกาข้อ 4.3)
                 - ทำผิดอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงกัน (กติกาข้อ 8.14)
                 - การกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา โดยนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีมที่อยู่นอกสนาม
                 - การกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างรุนแรง โดยผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีม
                 - ผู้เล่นคนเดิมถูกสั่งพักครั้งที่ 3
                 - การรุกรานโดยเจ้าหน้าที่ประจำทีม
การตัดสิทธิ์ผู้เล่นหรือเจ้าหน้าประทีมในขณะเวลาแข่งขัน จะต้องทำคู่ไปกับการสั่งพัก 2 นาทีด้วย โดยผู้เล่นในสนามจะต้องลดลง 1 คน
           6. ผู้ตัดสินจะต้องแสดงการตัดสิทธิ์ผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดต่อผู้จับเวลา ผู้บันทึกโดยการชูบัตรสีแดง
การตัดสินผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีมจะทำในเวลาการเล่นผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่จะต้องออกจากสนามและบริเวณเขตการเปลี่ยนตัวทันที
การตัดสินสิทธิ์จะต้องลดจำนวนผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่จากที่มีอยู่ (ยกเว้นกติกาข้อ 16.12 ข.) แต่อย่างไรก็ตาม จะอนุญาตให้เพิ่มจำนวนผู้เล่นในสนามได้เมื่อหมดเวลาสั่งพัก 2 นาที (ข้อสังเกตกติกา ข้อ 4.6)
ข้อสังเกต บัตรสีแดงมีขนาด 9 ? 12 เซนติเมตร
การบังคับให้ออกจากบริเวณเขตเปลี่ยนตัว หมายถึง ผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ต้องออกจากตำแหน่งที่เขาจะสวมมีผลต่อทีมได้
          7. การให้ออกจะทำเมื่อ
ในกรณีที่มีการทำร้ายในขณะแข่งขัน รวมถึงนอกสนามแข่งขันด้วย (กติกาข้อ 8.15, 17.8-9)
ข้อสังเกต การทำร้าย หมายถึง การกระทำโดยเจตนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการทำร้ายต่อผู้อื่น (กติกาข้อ 8.15) เช่น ผู้เล่น ผู้ตัดสิน ผู้จับเวลา ผู้บันทึก เจ้าหน้าที่ หรือผู้ชม
         8. ผู้ตัดสินควรจะขอเวลานอกและแจ้งให้ผู้เล่นที่ทำผิดทราบและแจ้งต่อผู้จับเวลาและผู้บันทึกโดยตรง โดยการแสดงสัญญาณมือต่อหน้าผู้เล่น ด้วยการยกมือทั้งสองไขว้ที่ระดับใบหน้า
การให้ออกจะทำในเวลาเล่นและทีมนั้นจะเล่นต่อโดยมีผู้เล่นในสนามน้อยลงไป 1 คน ผู้เล่นที่ถูกให้ออกจากสนามทันที (รวมทั้งบริเวณเขตเปลี่ยนตัว)
         9. ถ้าผู้เล่นที่ถูกสั่งพัก 2 นาทีทำการละเมิดกติกาก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันใหม่ ให้พิจารณาแยกการลงโทษแต่ละอย่างไป
         10. ถ้าผู้รักษาประตูถูกสั่งพัก ตัดสิทธิ์ หรือให้ออก ผู้เล่นคนอื่น ๆ 1 คนจะต้องเข้าแทนตำแหน่งผู้รักษาประตู (กติกาข้อ 4.1)
         11. ผู้ตัดสินจะทำการเตือนผู้เล่นที่ทำผิดเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา โดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นการกระทำในหรือนอกสนาม (กติกาข้อ 16.1 ง.)
ถ้าเป็นการทำซ้ำโดยผู้เล่นคนนั้นและอยู่ในสนามเขาจะถูกสั่งพัก (กติกาข้อ 16.3 ค.)  ถ้าผู้เล่นคนนั้นอยู่นอกสนาม (ผู้เล่นสำรองหรือผู้เล่นที่ถูกสั่งพัก) จะถูกตัดสิทธิ์  (กติกาข้อ 16.5 ค. , 16.6)  เจ้าหน้าที่ประจำทีมที่ทำการไม่มีน้ำใจนักกีฬาจะต้องถูกเตือน (กติกาข้อ 16.1 ง.) และถ้ายังทำซ้ำอีกจะถูกตัดสิทธิ์  (กติกาข้อ 16.5 ค. , 16.6)  ถ้าการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา หรือการทำร้ายเกิดขึ้นในขณะที่การแข่งขันหยุดลง เมื่อเริ่มการแข่งขันใหม่จะต้องเริ่มโดยให้การกระทำนั้นตรงกับเหตุที่หยุดการแข่งขันลง
ข้อสังเกต การแสดงออกด้วยวาจาหรือท่าทางซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นนักกีฬาที่ดี ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา
ให้พิจารณาลงโทษการไม่มีน้ำใจนักกีฬาหรือการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างร้ายแรง ถ้าเจ้าหน้าที่ประจำทีมเข้าสู่สนามโดยไม่ได้รับอนุญาต (กติกา ข้อ 4.4 )
ถ้าผู้เล่นหรือเจ้าหน้าที่ประจำทีมทำผิดหลาย ๆ ครั้ง (การละเมิดกติกาการกระทำที่ไม่มีน้ำใจกีฬา การรุกราน) ในเวลาเดียวกันหรือคนละช่วงเวลา ซึ่งแต่ละอย่างเป็นโทษที่รุนแรงให้พิจารณาลงโทษที่หนักเพียงอันเดียว
         12. การกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาหรือการก้าวร้าว จะพิจารณาลงโทษดังนี้
ก่อนการแข่งขัน
                 - เตือน ในกรณีที่กระทำไม่มีน้ำใจนักกีฬา (กติกาข้อ 16.1 ง.)
                 - ตัดสิทธิ์ ในกรณีที่กระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างรุนแรง (กติกาข้อ 16.5 ง. และ ฉ.) แต่อนุญาตให้ทีมนั้นเริ่มเล่นด้วยผู้เล่นใน 12 คน
ระหว่างเวลาพัก
                - เตือน ในกรณีที่กระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา (กติกาข้อ 16.1 ง.)
                - ตัดสิทธิในกรณีที่กระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาซ้ำหรือรุนแรง หรือในกรณีที่เกิดการรุกราน (กติกาข้อ 16.5 ค., ง. และ ฉ.)
ภายหลังการแข่งขัน
                - เขียนรายงาน

ผู้ตัดสิน (The Referees)
    
            1. ผู้ตัดสินทั้งสองคนมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เท่ากัน โดยมีผู้ช่วย คือผู้บันทึกและผู้จับเวลา
          2. ผู้ตัดสินมีอำนาจกว่ากล่าวการกระทำของผู้เล่นตั้งแต่เริ่มเข้าสนาม จนถึงออกจากสนามแข่งขัน
          3. ผู้ตัดสินมีหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจสนามแข่งขันประตู และลูกบอลก่อนเริ่มการแข่งขัน (กติกาข้อ 3.1) และจะเป็นผู้พิจารณาว่าลูกบอลลูกใดที่จะใช้ในการแข่งขันได้ ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จะพิจารณาใช้ข้อเสนอของผู้ตัดสินที่มีชื่อแรก
ผู้ตัดสินจะต้องตรวจสอบเครื่องแต่งกายของทั้งสองทีมให้ถูกต้อง ตรวจสอบใบบันทึกและอุปกรณ์ของผู้เล่น และต้องแน่ใจว่าจำนวนผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเขตเปลี่ยนตัวนั้นเป็นไปตามกำหนดและจะต้องทราบเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของทีมที่แน่นอนของแต่ละทีมหากมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้แก้ไข (กติกาข้อ 10.1)
          4. ผู้ตัดสินที่มีชื่อแรกจะเป็นผู้เสี่ยงต่อหน้าผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งและหัวหน้าทีมทั้งสองทีม (กติกาข้อ 10.1)
          5. การเริ่มการแข่งขัน ผู้ตัดสินที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับที่สองจะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินในสนามต่ออยู่ด้านหลังของทีมที่จะส่งลูกเริ่มเล่น (Court Referee)
ผู้ตัดสินในสนามจะเป็นผู้ให้สัญญาณนกหวีดให้ส่งลูกเริ่มเล่น (กติกาข้อ 10.3) ต่อมา ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองลูกบอลผู้ตัดสินที่มีชื่อเป็นลำดับที่ 2 จะไปทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินที่เส้นประตูด้านที่เป็นฝ่ายรับ ผู้ตัดสินที่เริ่มอยู่ที่เส้นประตูอีกด้านหนึ่ง จะกลับมาเป็นผู้ตัดสินในสนามแทน เมื่อทีมนั้นสูญเสียการครอบครองลูกบอลผู้ตัดสินจะต้องเปลี่ยนแดนกันตลอดเวลาการแข่งขัน
          6. โดยหลักการ ตลอดการแข่งขันควรจะควบคุมโดยผู้ตัดสินชุดเดิม มีหน้าที่รับผิดชอบให้การแข่งขันเป็นไปตามกติกาและจะต้องทำโทษกระทำผิดทุกชนิด (กติกาข้อ 13.6, 14.9)
ถ้าผู้ตัดสินคนใดไม่สามารถทำหน้าที่ที่ได้จนจบการแข่งขัน ผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งจะต้องทำหน้าที่ต่อโดยลำพัง
          7. ในหลักการ ผู้ตัดสินในสนามจะเป่านกหวีดเมื่อ
              - การส่งทุกชนิดที่เป็นไปตามกติกาข้อ 16.3 ก. –ฉ. และภายหลังการขอเวลานอก (กติกาข้อ 2.4)
              - เมื่อหมดเวลาการแข่งขัน ถ้าสัญญาณอัตโนมัติไม่ทำงาน หรือผู้จับเวลาไม่ให้สัญญาณหมดเวลา
              - เมื่อมีการได้ประตู
          8. ถ้าผู้ตัดสินทั้งสองคนให้สัญญาณนกหวีดเกี่ยวกับการละเมิดกติกา และได้พิจารณาลงโทษ แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงของการลงโทษต่างกัน ให้พิจารณาลงโทษที่รุนแรงกว่าเป็นหลัก
          9. ถ้าผู้ตัดสินทั้งสองคนให้สัญญาณนกหวีดเกี่ยวกับการละเมิดกติกา แต่มีความคิดเห็นทีแตกต่างกันว่าทีมใดควรจะได้รับการลงโทษ ให้ยึดผู้ตัดสินในสนามเป็นหลัก
การแข่งขันจะเริ่มต่อไปเมื่อผู้ตัดสินในสนามได้ให้สัญญาณมืออย่างชัดเจนพร้อมสัญญาณนกหวีด
          10. ผู้ตัดสินทั้งสองคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมคะแนน และจะต้องควบคุมการบันทึกเกี่ยวกับการเตือน การสั่งพัก การตัดสิทธิ์ และการให้ออก
          11. ผู้ตัดสินทั้งสองมีหน้าที่ในการควบคุมเวลาการแข่งขันหากเกิดการสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของการควบคุมเวลา ผู้ตัดสินที่มีชื่อเป็นชื่อแรกจะเป็นผู้พิจารณาตัดสิน
          12. ผู้ตัดสินทั้งสองคนมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับใบบันทึก โดยไม่ต้องแน่ใจว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์
          13. การตัดสินของผู้ตัดสินให้พิจารณาจากพื้นฐานของความจริงและถือเป็นสิ้นสุด การอุทธรณ์ คำตัดสินที่ไม่เป็นไปตามกติกา หัวหน้าทีมมีสิทธิ์ที่แจ้งต่อผู้ตัดสินได้
          14. ผู้ตัดสินทั้งสองคนมีอำนาจที่จะหยุดการแข่งขันชั่วขณะหนึ่ง หรือยุติการแข่งขันได้ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การแข่งขันดำเนินต่อไปก่อนที่จะมีการตัดสินให้ยุติการแข่งขัน
          15. ผู้ตัดสินจะต้องใส่ชุดสีดำเป็นหลักหรือสีอื่นที่แตกต่างจากผู้เล่นทั้งสองทีมอย่างชัดเจน

ผู้บันทึกและผู้จับเวลา (The Scorekeeper and The Timekeeper)
     
           1. ผู้บันทึกต้องตรวจสอบรายชื่อของทีม เฉพาะผู้เล่นที่มีชื่อเท่านั้นมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันได้ ผู้บันทึกกับผู้จับเวลาจะต้องช่วยกันตรวจสอบการลงสนามของผู้เล่นที่มาถึงสนาม หลังจากการแข่งขันได้เริ่มไปแล้ว หรือเข้าสู่สนามอีกภายหลังจากถูกสั่งพัก
ผู้บันทึกมีหน้าที่ควบคุมและทำเครื่องหมายต่าง ๆ ที่จำเป็นลงในใบบันทึก (การได้ประตู การเตือน การสั่งพัก การตัดสิทธิ์ และการให้ออก)
           2. ผู้จับเวลามีหน้าที่ควบคุม
                  - เวลาการแข่งขัน (กติกาข้อ 2.1, 2.4, 2.7) การหยุดและเริ่มเวลาเมื่อผู้ตัดสินสั่ง
                  - จำนวนผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ในเขตเปลี่ยนตัว (กติกาข้อ 4.1)
                  - ร่วมกับผู้บันทึก เกี่ยวกับผู้เล่นที่มาถึงภายหลังจากที่การแข่งขันได้เริ่มไปแล้ว (กติกาข้อ 4.3)
                  - การออกและเข้าสนามของการเปลี่ยนตัวผู้เล่น (กติกาข้อ 4.4 , 4.5)
                  - ผู้เล่นที่เข้าสนามโดยไม่สิทธิ์ (กติกาข้อ 4.6)
                  - เวลาสั่งพักสำหรับผู้เล่นที่ถูกสั่งพัก
ถ้าไม่มีนาฬิกาที่สามารถแจ้งเวลาสิ้นสุดการแข่งขันแบบอัตโนมัติ ผู้จับเวลาจะต้องให้สัญญาณหยุดการแข่งขันในแต่ละครึ่งอย่างชัดเจน
           3. เมื่อมีการหยุดเวลาการแข่งขัน (ขอเวลานอก) ผู้จับเวลาจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ประจำทีมของแต่ละทีมได้ทราบว่า เวลาแข่งขันหมดไปเท่าไร (ยกเว้นในกรณีที่มีนาฬิกาที่สามารถแจ้งเวลาให้สาธารณชนทราบ)
           4. ผู้จับเวลาจะต้องแจ้งให้ผู้เล่นที่ถูกสั่งพัก หรือเจ้าหน้าที่ประจำทีมที่รับผิดชอบได้ทราบว่าเมื่อไรจะหมดเวลาสั่งพัก

ข้อมูลและภาพประกอบ  http://www.seagames2007.th